วันที่ ๒-๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘
นายภูมิศักดิ์ ชูเย็น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนางทิตยา แซ่เลี่ยง นักวิชาการศาสนาชำนาญการ ร่วมงานกิจกรรม “สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย” ที่จัดขึ้นจากการผสานความร่วมมือของสำนักองคมนตรี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร กรมประชาสัมพันธ์ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CP GROUP เอสซีจี AMARIN TV เอชดี ช่อง ๓๔ และอีกหลายภาคส่วน โดยมี นายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดป้ายงานกิจกรรม
ภายในงานครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรม และนิทรรศการที่น่าสนใจทั้งในหอประชุมใหญ่ และเต็นท์ขนาดใหญ่ ๔ โดม ที่น่าสนใจมากมาย มีเวทีการแสดงขนาดใหญ่อีก ๒ เวที ที่จะมีการแสดงทางศิลปะ และวัฒนธรรม ๔ ภาค รวมถึงบูทนิทรรศการที่น่าสนใจต่างๆ จากทั่วประเทศที่มารวมกันไว้ที่นี่ที่เดียว และยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลาย อาทิ กิจกรรมเทศนาธรรมสี่ภาคสี่ภาษา เทศนาปุจฉาวิสัชนา ๒ ธรรมาสน์ นิทรรศการแสดงผลงานของหน่วยงานคณะสงฆ์ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่น่าสนใจ ๘ โครงการสำคัญ ประกอบด้วย
๑. โครงการทุนระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
๒. โครงการกองทุนศึกษาบาลี
๓. โครงการอบรมพระนักเทศน์ พระธรรมกถิกาจารย์
๔. โครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ พระคณาจารย์ด้านกรรมฐาน
๕. โครงการพระธรรมจาริก ที่ให้พระภิกษุสามเณรขึ้นไปปฏิบัติภารกิจตามชุมชนบนที่ราบสูง โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อมให้เกิดความสงบสุข และใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถดำรงชีพได้อย่างถูกครรลอง
๖. โครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นในสังคมไทย โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ด้วยการอาศัยหลักธรรมศีล ๕ ข้อ เป็นข้อปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความสามัคคีเกิดขึ้นในชุมชน โดยในปีนี้จะมีพิธีมอบโล่รางวัลหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ต้นฉบับ ๗๗ จังหวัด และต้นแบบ ระดับภาค ๑๘ ภาค จัดขึ้นในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๘
๗. โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข เป็นหนึ่งในการปฏิรูปพระพุทธศาสนาที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๑ เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีสุขภาวะที่ดีทั้งด้านกาย จิต สังคม และปัญญา ผ่านการใช้แนวทาง ๕ ส. (สะสาง สะดวก สะอาด สร้างมาตรฐาน และสร้างวินัย) เพื่อส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่ร่มรื่น สวยงาม เหมาะสมกับการเรียนรู้ ทางด้านกายภาพ และด้านจิตใจ โดยนำหลักภูมิสถาปัตยกรรมมาใช้ในการพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่สัปปายะเป็นอารามที่รื่นรมย์ มีความสวยงามตามหลักภูมิสถาปัตยกรรมไทย
๘. หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล อปต.